ไม่ยื่นภาษีได้ไหม?
แม้ว่ากฎหมายจะบังคับให้คุณยื่นภาษีเมื่อมีรายได้ แต่ถ้าเป็นกรณีต่อไปนี้ คุณเลือกจะไม่ยื่นภาษีก็ไม่มีใครว่า
มีรายได้จากเงินเดือนเพียงทางเดียว ตลอดทั้งปีไม่เกิน 120,000 บาท หรือตกเดือนละ 10,000 บาท*1
มีรายได้ทางอื่นด้วยตลอดทั้งปีไม่เกิน 60,000 บาท หรือเดือนละ 5,000 บาท*2
สมรสตามกฎหมายแล้วและคุณทั้งคู่มีรายได้จากเงินเดือนเพียงทางเดียวรวมกันตลอดทั้งปีไม่เกิน 220,000 บาท หรือตกเดือนละ 18,333.33 บาท*3
สมรสตามกฎหมายแล้วและคุณทั้งคู่มีรายได้รวมกันตลอดทั้งปีไม่เกิน 120,000 บาท หรือตกเดือนละ 10,000 บาท *4
มีรายได้จากดอกเบี้ยธนาคาร, ดอกเบี้ยหุ้นกู้, ดอกเบี้ยพันธบัตร, ส่วนต่าง discount bond, กำไรจากการขายตราสารหนี้, เงินปันผลของบริษัทห้างร้าน, และเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้ทำเป็นธุรกิจ แล้วปล่อยให้ภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเป็นภาษีสุดท้ายไปเลย*5
มีรายได้จากเงินปันผลจากกองทุนรวมแล้วปล่อยให้ภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเป็นภาษีสุดท้ายไปเลย*6
มีรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมรดกหรือมีคนให้มาแล้วปล่อยให้ภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเป็นภาษีสุดท้ายไปเลย*7
มีรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางอื่นที่ไม่ได้มุ่งหากำไรแล้วปล่อยให้ภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเป็นภาษีสุดท้ายไปเลย*8
เสียภาษีเยอะ ขอผ่อนได้ไหม?
ในกรณีที่คุณต้องจ่ายเงินภาษีตั้งแต่ 3,000 บาท ขึ้นไป คุณสามารถผ่อน 0% นาน 3 เดือน เป็นจำนวน 3 งวดเท่าๆ กันได้*9 โดยแจ้งความประสงค์กับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร (ทั่วประเทศ) หรือเจ้าหน้าที่ธนาคารผู้รับชำระภาษี (เฉพาะกรุงเทพฯ เท่านั้น)
ยื่นภาษีที่ไหนได้บ้าง?
สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทุกแห่ง
ทาง Internet ผ่านระบบ E-Filing ของกรมสรรพากร
ไปรษณีย์ลงทะเบียน เฉพาะผู้มีเงินได้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ โดยส่งพร้อมแนบเช็ค (ประเภท ข. ค. หรือ ง.) หรือใบธนาณัติตามจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระทั้งจำนวนไปที่
สำนักบริหารการคลังและรายได้
กรมสรรพากร อาคารกรมสรรพากร
เลขที่ 90 ซอยพหลโยธิน 7 ถนนพหลโยธิน
เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
กรมสรรพากรจะถือเอาวันที่ลงทะเบียนไปรษณีย์เป็นวันรับแบบฯ และชำระภาษี และจะส่งใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้ยื่นแบบฯ ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
อ้างอิง
*1 :มาตรา 56(2) ประมวลรัษฎากร,พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560
*2 :มาตรา 56(1) ประมวลรัษฎากร,พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560
*3 :มาตรา 56(4) ประมวลรัษฎากร,พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560
*4 :มาตรา 56(3) ประมวลรัษฎากร,พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560
*5 :มาตรา 48(3),(4) ประมวลรัษฎากร
*6 :ข้อ 5 คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.119/2545
*7 :มาตรา 48(4)(ก) ประมวลรัษฎากร
*8 :มาตรา 48(4)(ข) ประมวลรัษฎากร
*9 :มาตรา 64 ประมวลรัษฎากร